วันศุกร์ที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2558

กราฟฟิกกับการออกแบบ

11.jpg

                   งานออกแบบกราฟิกหรือเรขนิเทศศิลป์ (Graphic Design) คือ กระบวนการออกแบบเพื่อการสื่อสาร ที่ผสานศิลปะเข้ากับเทคโนโลยี ผ่านสื่อในรูปแบบต่างๆ ส่งผลให้การส่งสารดังกล่าวไปถึงผู้รับสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดประสิทธิผลสูงสุด องค์ประกอบที่ใช้ในการทำงานกราฟิกจะประกอบไปด้วยภาพและ/หรือตัวอักษรเป็นสำคัญ
ปัจจุบันงานออกแบบกราฟิกจัดเป็นงานบริการประเภทหนึ่งที่นักออกแบบให้บริการผ่านการให้คำแนะนำ หรือการรับจ้างผลิตงานออกแบบ โดยอาศัยทักษะ ทฤษฎี หลักการ และกระบวนการคิดในการออกแบบ มาช่วยแก้ปัญหาด้านการสื่อสารและการรับรู้ เช่น การออกแบบสื่อสิ่งพิมพ์ รายงานประจำปี ตราสัญลักษณ์ สื่อโฆษณาประชาสัมพันธ์ รวมถึงวีดิทัศน์ เว็ปไซต์ บรรจุภัณฑ์ และสื่อผสมทางอิเล็คโทรนิกส์อื่นๆ
ในภาวะที่ธุรกิจแข่งขันกันรุนแรงดังเช่นทุกวันนี้ การสื่อสารเป็นเรื่องสำคัญที่ไม่อาจมองข้ามได้ หนึ่งในผู้ที่สามารถแสดงบทบาทช่วยให้องค์กรและตราสินค้าทำการสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพก็คือ "นักออกแบบกราฟิก" นั่นเอง


21.jpg

ประโยชน์ของการใช้งานนักออกแบบกราฟิก สามารถสรุปได้โดยสังเขปดังนี้       
1. ช่วยวางกรอบและเงื่อนไขของการสื่อสารทั้งภายในและภายนอกองค์กร นักออกแบบกราฟิกจะพิจารณาเลือกวิธีการสื่อสารและเลือกใช้สื่อที่เหมาะสม เพื่อให้การสื่อสารทั้งหมดดำเนินไปในทิศทางเดียวกันอย่างมีประสิทธิภาพ
2. ช่วยส่งเสริมการขายและการตลาด งานออกแบบกราฟิกที่ดีช่วยสร้าง/ปรับปรุงภาพลักษณ์ให้กับองค์กร สร้างความเชื่อมั่น และกระตุ้นพฤติกรรมการใช้ของผู้บริโภคได้ โดยผ่านการนำเสนอในรูปแบบต่างๆ กัน อาทิ การออกแบบเว็บไซต์ บรรจุภัณฑ์ สั่งพิมพ์โฆษณา ฯลฯ
3. มีส่วนช่วยในการตัดสินใจหรือให้ความคิดเห็นแก่ผู้ประกอบการ ในกรณีที่โครงงานมีทิศทางหรือแนวปฏิบัติที่หลากหลายและไม่สามารถหาข้อสรุปได้โดยง่าย
 

ขั้นตอนในการคัดเลือกและว่าจ้างนักออกแบบกราฟิก
    
1. ค้นหารายชื่อนักออกแบบหรือบริษัทออกแบบ พร้อมทั้งศึกษาลักษณะการให้บริการเบื้องต้น อาจเริ่มต้นจากที่ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) กรมส่งเสริมการส่งออก สมาคมนักออกแบบ หรือถามจากผู้ประกอบการที่เคยใช้บริการประเภทดังกล่าวมาก่อน
2. เตรียมข้อมูลความต้องการ และรายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับโครงงานให้พร้อม เพื่อเป็นโจทย์ตั้งต้นให้กับนักออกแบบ
3. เชิญนักออกแบบหรือบริษัทออกแบบที่สนใจเข้ามาแนะนำตัว โดยให้คำนึงถึงผลงานและประสบการณ์เป็นสำคัญ (อาจรวมถึงขนาด ศักยภาพ และความพร้อมในการทำงานด้วย)
4. นำเสนอข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับธุรกิจ และให้กรอบการพิจารณาคัดเลือกที่ชัดเจนแก่นักออกแบบ โดยข้อมูลที่ผู้ประกอบการและนักออกแบบควรทำความเข้าใจร่วมกัน ณ จุดนี้คือ
- รายละเอียดของสินค้าหรือบริการ รวมทั้งลักษณะเฉพาะของกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย
- วิสัยทัศน์และขนาดของธุรกิจ
- คู่แข่งที่ชัดเจนทั้งทางตรงและทางอ้อม
- สาเหตุที่ธุรกิจต้องการความช่วยเหลือจากงานออกแบบ
- สิ่งที่คาดหวังว่าจะได้รับจากการใช้นักออกแบบ
- แรงบันดาลใจอื่นๆ5. จากนั้นจึงแจกแจงรายละเอียดโครงงานให้กับนักออกแบบ (ฺหรือที่เรียกว่า Brief)

การให้ Brief เป็นขั้นตอนที่สำคัญมาก เพราะนักออกแบบจำเป็นต้องใช้ข้อมูลและเงื่อนไขต่างๆ ใน Brief นี้เพื่อวางแผนและกลยุทธ์ในการทำงาน หาก Brief มีข้อผิดพลาดหรือขาดความชัดเจนแล้ว โอกาสที่ผลงานออกแบบจะออกมาดีตามคาดก็ไม่ใช่เรื่องง่าย
Brief ที่ดีควรมีองค์ประกอบหลักๆ ดังนี้ - ประวัติ ที่มา และลักษณะการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการโดยคร่าว
- ที่มาและวัตถุประสงค์ของโครงการ
- เงื่อนไข ขอบเขต รวมถึงข้อจำกัดในการออกแบบ
- แนวคิดเบื้องต้นที่ต้องการจากงานออกแบบ
- เงื่อนไขหรือขอบเขตในลิขสิทธิ์ของงานออกแบบ
- รายละเอียดในการส่งมอบงาน
- งบประมาณ
6. เชิญนักออกแบบเข้ามานำเสนอโครงงานออกแบบ (ที่เรียกว่า Design Proposal) 7. พิจารณาเอกสารการนำเสนอโครงงานอย่างเป็นธรรม และคัดเลือกนักออกแบบโดยยึดกรอบการพิจารณาที่เคยให้ไว้ 8. ทำความเข้าใจเป็นลายลักษณ์อักษรถึงข้อตกลง เงื่อนไขการทำงาน รวมทั้งค่าใช้จ่ายต่างๆ กับนักออกแบบหรือบริษัทออกแบบที่เลือกใช้ 9. ทำสัญญาจ้างงาน

การคิดค่าบริการในงานออกแบบกราฟิก
     อัตราค่าบริการสำหรับงานออกแบบกราฟิกนั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง อาทิ ความสามารถ ชื่อเสียง ประสบการณ์ของนักออกแบบ ความยากง่าย และคุณค่าของงาน ฯลฯ โดยการประเมินราคาส่วนมากจะคำนวณจากองค์ประกอบหลายอย่างร่วมกัน ได้แก่
1. ค่าออกแบบ ซึ่งประเมินจากขั้นตอนการทำงาน รายละเอียด และความยากง่ายของตัวงานเป็นหลัก การประเมินราคาในส่วนนี้ทางนักออกแบบอาจนำเสนอเป็นราคาเดียวเพื่อความสะดวก หรือบางแห่งอาจทำราคาแยกให้เห็นเป็นขั้นๆ ก็ได้ ทั้งนี้แล้วแต่ระบบการจัดการของฝ่ายผู้ว่าจ้างและนักออกแบบด้วย
2. ค่าดูแลการผลิต ในบางกรณีนักออกแบบสามารถคิดค่าดูแลการผลิตเพิ่มเติมจากค่าออกแบบได้ ทั้งนี้เพราะมาตรฐานการผลิตระดับสูงโดยเฉพาะอย่างยิ่งในระบบงานพิมพ์นั้น เป็นเรื่องที่ต้องการความเชี่ยวชาญและมีรายเอียดที่ซับซ้อน นักออกแบบกราฟิกส่วนมากจำเป็นต้องให้คำแนะนำเพิ่มเติมแก่ผู้ผลิตหรือโรงพิมพ์ เพื่อให้ทำการผลิตได้ตรงตามความต้องการอย่างแท้จริง รวมทั้งต้องเข้าไปดูแลงานผลิตที่บางครั้งอาจใช้เวลาเป็นวันหรือเป็นสัปดาห์ และอาจต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายหากเกิดข้อผิดพลาดขึ้นด้วย
3.ค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ ค่าเดินทาง ค่าส่งเอกสาร ค่าที่พัก ค่าตรวจพิสูจน์อักษร (ถ้ามี)
4.ค่าลิขสิทธิ์ในงานออกแบบ (Loyalty Fee) นักออกแบบหรือบริษัทออกแบบบางแห่ง อาจคิดค่าบริการเพิ่มเติมเป็นเปอร์เซนต์จากสิทธิหรือปริมาณการใช้งานออกแบบนั้นๆ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับจำนวนการผลิต เงื่อนไข ประเภท และข้อตกลงอันเป็นที่ยอมรับของทั้งสองฝ่าย

stationary.jpg

4 ขั้นตอนการทำงานของนักออกแบบกราฟิกที่ดี 1. Discover : ค้นและวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อหาแนวโน้มความเป็นไปได้ นักออกแบบจะเริ่มต้นหาแรงบันดาลใจจากข้อมูลเบื้องต้นใน brief รวมทั้งศึกษาตลาดการแข่งขัน สังเกตแนวโน้มความเปลี่ยนแปลง ทำความเข้าใจกลุ่มผู้ใช้เป้าหมาย ศึกษากรณีอ้างอิงต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งในเชิงการตลาด สังคมวัฒนธรรม เทคโนโลยี และการออกแบบ เพื่อพัฒนาแนวคิดในขั้นต่อไป
2. Define : ประมวลผลและพัฒนาแผนการทำงาน ขั้นตอนนี้นักออกแบบจะเข้าสู่กระบวนการกลั่นกรองความคิด หาคำตอบในวัตถุประสงค์ทางธุรกิจของลูกค้า รวมถึงวางแผนการทำงานที่จะเกิดขึ้นในอนาคต พร้อมทั้งทำความเข้าใจในแผนงานกับลูกค้าจนเป็นที่ยอมรับตรงกัน เช่น แนวคิดและแนวทางการออกแบบ (Mood & Tone) การบริหารจัดการเรื่องเวลา ทรัพยากรและการดำเนินงาน
3. Develop : พัฒนางานออกแบบ นักออกแบบกราฟิกเริ่มลงมือทำงานเพื่อหาวิธีแก้ปัญหาที่ดีที่สุดให้กับโจทย์ของลูกค้า โดยผ่านกระบวนการดังต่อไปนี้
- เสนอแนวคิดต่างๆ ในการออกแบบ เช่น Mood, Tone, Format, Techniques
- เริ่มต้นออกแบบ เช่น การจัดหน้า Layout, การเลือกภาพ ตกแต่งภาพ จัดวางภาพ การเลือกและจัดวางตัวอักษร
- นำเสนอตัวอย่างเสมือนจริง (หรือ Mock-up) ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับประเภทของงาน
- เตรียมทำอาร์ตเวิร์ค (Artwork) สำหรับใช้ในกระบวนการพิมพ์
- ตรวจแบบและส่งมอบอาร์ตเวิร์ค เพื่อเตรียมเข้าสู่กระบวนการพิมพ์และผลิตต่อไป
4. Deliver : ผลิตงานออกแบบ นำงานออกแบบที่พัฒนาขึ้นแล้วเข้าสู่กระบวนการพิมพ์และผลิตจริง นักออกแบบต้องช่วยตรวจสอบคุณภาพความถูกต้อง ประสานงานให้กระบวนการผลิตดำเนินไปอย่างราบรื่น และส่งมอบงานให้กับลูกค้า เช่น ช่วยดูแลการเลือกกระดาษพิมพ์ ดูความถูกต้องของสีหมึกพิมพ์ รวมไปถึงดูแลเรื่องสถานที่ส่งของด้วย
เครดิตข้อมูล : กรมส่งเสริมการส่งออก
เครดิตภาพ :
www.jeerapit.blogspot.com/ www.mitshit.com/tag/design/page/2/ http://www.tocommunication.be/images/work/stationary.jpg

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น